แนวทางเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด
แสงแดดเป็นภัยใกล้ตัวที่เรานึกไม่ถึง
จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ
อันเนื่องมาจากชั้นบรรยากาศที่ทำหน้าที่กรองรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet,
UV) ค่อย ๆ ถูกทำลายลง
จนทำให้รังสียูวีเอและรังสียูวีบีที่มีอยู่ในแสงแดดตกลงมากระทบถึงพื้นผิวโลก
ส่งผลให้ผิวของคนเราเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวแก่ก่อนวัย จุดด่างดำ ฝ้า
กระ ผิวไหม้ แสบแดง ผิวหนังอักเสบ ไปจนถึงมะเร็งผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด (ครีมกันแดด) จะช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้
ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด (ครีมกันแดด) ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันรังสียูวีเอ
และรังสียูวีบี โดยช่วยลดปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่จะมาถึงผิวโดยอาศัยคุณสมบัติของสารป้องกันแสงแดดที่มีอยู่
2 ชนิด ได้แก่
- กลุ่มสารที่เป็นสารสะท้อนแสงแดด โดยสารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวไม่ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) ไตตาเนียมไอออกไซด์ (Titanium dioxide) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (Magnesium carbonate และ Magnesium oxide) เป็นต้น
- กลุ่มสารที่เป็นสารดูดซับแสง สารเหล่านี้จะทำหน้าที่ดูดซับแสงแดดทำให้แสงแดดไม่สามารถผ่านเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนังได้ เช่น แอนทรานิเลต (Anthranilate) เบนโซฟิโนน (Bensophenone) ซินนาเมต (Cinnamate) เป็นต้น
คำว่า Sun Protection Factor (SPF)
คงคุ้นหูเป็นอย่างมาก
มันเป็นค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดของผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด (ครีมกันแดด)
เช่น ถ้าปกติโดนแสงแดดได้นานเป็นเวลา 30 นาที แล้วถึงจะอาการแสบ ร้อน หรือไหม้ที่บริเวณผิวหนัง
แต่เมื่อได้ทาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางป้องกันแสงแดด (ครีมกันแดด) ที่ผสมสารป้องกันแสงแดดที่มีค่า
SPF 15 ก็จะสามารถสัมผัสกับแสงแดดได้นานขึ้นถึง 15 เท่า
ก็คือ 450 นาที เครื่องสำอางที่มีค่า SPF มากย่อมทำให้ระยะเวลาที่ผิวสามารถทนทานต่อแสงแดดนานขึ้นตามลำดับ
แต่เครื่องสำอางนั้นก็จะเหนียวเหนอะมากขึ้น และมีสารเคมีที่ใช้กันแดดมากตามเช่นกัน
ดังนั้น โอกาสที่ผู้ใช้จะเกิดการแพ้หรือระคายเคืองย่อมมีมากกว่าผู้ที่ใช้เครื่องสำอางที่มีค่า
SPF ต่ำ อีกทั้งเครื่องสำอางที่มีค่า SPF ยิ่งมากราคายิ่งแพง
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดมีการผลิตออกมามากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
จนในบางครั้งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนในการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์
อย่างคำว่า sunscreen และ sunblock ที่ระบุอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 คำนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสงสัยว่า
มีความแตกต่างกันอย่างไร และชนิดไหนให้ผลดีกว่ากัน ซึ่งในความเป็นจริง 2
คำนี้ใช้เรียกแทนกันได้ในการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต เพียงแต่ sunscreen
(Chemical Sunscreen) คือ
ผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันแสงแดดเป็นส่วนผสม
มีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวหนังจากแสงแดดได้ด้วยการดูดซับรังสี UV และควรทาก่อนถูกแสงแดดเป็นเวลา 30 นาที เนื่องจาก ต้องการเวลาในการเกิดปฏิกิริยาเคมี
ส่วน sunblock (Physical Sunscreen)
เป็นคำที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะทึบแสงมาก ๆ และมีความข้นหนืดสูง
มีคุณสมบัติปกป้องผิวด้วยการช่วยสะท้อนหรือกระจายแสง UV ออกจากผิว
ไม่ให้แสง UV ผ่านเข้าชั้นผิวหนังได้
สำหรับการเลือกซื้อครีมกันแดดอย่างถูกวิธี คือ
- ฉลากผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดจะต้องเป็นภาษาไทย แสดงชื่อและประเภทของผลิตภัณฑ์ ชื่อและปริมาณส่วนประกอบสำคัญ ชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้ ปริมาณ สุทธิ คำเตือน เลขที่จดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมีอายุไม่เกิน 2 ปี
- ควรพิจารณาเลือกซื้อครีมกันแดดที่มีสารกรองแสงรังสีทั้งยูวีเอและยูวีบีเป็นองค์ประกอบ
- ควรเลือกซื้อครีมกันแดดที่บอกค่าป้องกันแสงแดด (SPF-Sun Protection Factor) เช่น SPF 15 หรือ 30 เป็นต้น และควรเลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น ถ้าต้องทำงานนอกสถานที่ หรือต้องได้รับแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ควรเลือกซื้อครีมกันแดดที่มีค่าสูง เช่น SPF 15 หรือมากกว่านั้น
- ในกรณีที่ต้องการป้องกันแสงแดดขณะว่ายน้ำ ควรเลือกครีมกันแดดชนิดที่กันน้ำ (Water resistance) ถ้าใช้ขณะอากาศร้อนมากเหงื่อออกง่าย หรือป้องกันแสงแดดเมื่อเล่นกีฬา ควรเลือกชนิดทนต่อเหงื่อ (Sweat resistance)
- ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ครีมกันแดด โดยทาผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดนั้น ๆ ในปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขน แล้วทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง หากไม่มีความผิดปกติใด ๆ แสดงว่าใช้ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ครีมกันแดดเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาแดดจัด ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น. และควรทาครีมกันแดดอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เนื้อครีมเคลือบติดที่ผิวได้ดี สำหรับผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ แนะนำให้ทาซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการปกป้องผิวจากแสงแดด
Website : http://yanincosmeticbangkok.com
Email : yanincosmetic@hotmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น